เด็กติดในรถตู้สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำตามประสาสังคมไทย

        

ขอบคุณภาพจาก NationTV

         ดูข่าวน้องจีฮุน อายุ 7 ปี เด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี เสียชีวิตในรถตู้รับส่งของโรงเรียน ซึ่งเหตุสลดที่เกิดขึ้นคาดว่าเกิดจากขาดอากาศหายใจ แต่ "อ.เจษฎ์" รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อข้องใจในประเด็นสาเหตุการเสียชีวิต เวลาที่เด็กติดในรถ ระบุว่า เวลาที่เด็กติดในรถ แล้วเสียชีวิต หลายสำนักข่าวมักจะรายงานว่า "คาดว่าขาดอากาศหายใจ" ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะอากาศมักจะผ่านเข้าไปในรถได้ทางช่องเล็กช่องน้อยของรถ ยังมีออกซิเจนให้หายใจได้เป็นชั่วโมง ๆ แต่จริงๆ แล้ว สาเหตุการเสียชีวิตคือ "ความร้อนสูง" ที่เกิดขึ้นในรถต่างหาก แค่ครึ่งชั่วโมงก็ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว จากการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป จนระบบการทำงานในร่างกายล้มเหลว เกิดอาการ Heat stroke ได้ ซึ่งอาการดังกล่าวหากเด็กหลับอยู่พอรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว และถึงแม้มีอุปกรณ์ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ หรืออุปกรณ์ป้องกันก็อาจไม่ทันการ ซึ่งผู้ปกครองก็ยังติดใจอยู่ว่าเด็กสามารถเปิดประตูรถเองได้แต่ทำไมเสียชีวิต      
          เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่ง รมว.กระทรวงศึกษาธิการก็ออกมา "ปัดฝุ่นอาชีวะ" อีกครั้งหลังจากเมื่อนานมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2559 สมัย "นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์" เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเคยจัดแถลงข่าวแสดง "อุปกรณ์ช่วยเด็กติดในรถ" จากสถิติมีเด็กเสียชีวิตในรถปีละ 1 คน ที่เป็นข่าว จากปี พ.ศ.2559 ถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมจากผู้รับผิดชอบ พอมีเด็กเสียชีวิตทีก็ออกมาตีข่าวเพื่อให้รู้ว่ามีการคิดค้น แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่เคยนำไปใช้แก้ปัญหา เพราะสังคมไทย "ไม่ใช่เรื่องของตัว" เรื่องนี้สะท้อน "ความรับผิดชอบ" หากโรงเรียน ครู พนักงานขับรถ มีการ "เอาใจใส่" ตรวจนับ ดูให้ทั่วรถ นอกจากครูผู้ควบคุมมีความผิดเนื่องจากไม่ตรวจนับแล้ว มีอยู่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากสำหรับการจัดการเรียนการสอนคือ "วันนี้เด็กหายไปไหน" จากรายการโหนกระแสเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ครูไม่ได้สนใจที่เด็กหายไป "เด็กตายคารถ รร. ครูอ้างไม่สังเกตเพราะเด็กลาบ่อย กรรชัยถึงกับ โอ๊ย เสียงลอดไมค์ !" ปัญหานี้ไม่ได้เป็นเฉพาะเด็กเท่านั้น จุดเล็กๆนี้ทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ปัญหายาเสพติด ทะเลาะวิวาท ท้องในวัยเรียน 
         ก็ติดตามว่าเรื่องเด็กติดในรถผู้เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาหรือมีมาตรการอย่างไร ที่แน่ๆคือโรงเรียน ครูผู้ควบคุมรถ พนักงานขับรถแถมเป็นครูประจำชั้นซึ่งไม่รู้ว่ามีใบอนุญาตขับรถตู้หรือไม่ ต้องผิดเต็มประตู กระทรวงศึกษาธิการก็คงตื่นเต้นสักพัก ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียนก็มีระบุไว้ แต่ "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" อุปกรณ์ใดๆก็คงยากเพราะลำบากในเรื่องการติดตั้งเพราะคนลงทุนคือเอกชนเจ้าของรถตู้ ในกรณีนี้โรงเรียนรัฐก็คงไม่กล้าไปตรวจสอบ แต่นี่โรงเรียนเอกชนกระทรวงศึกษาธิการก็อาจจะบังคับได้ในกรณีรถตู้เป็นของโรงเรียน แต่จากระเบียบกระทรวงข้างต้นไม่มีบทลงโทษเพราะไม่มีอำนาจลงโทษแต่รายละเอียดก็อาจใช้ประกอบสำนวนของตำรวจได้เท่านั้น ดีที่สุดสุดท้ายพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องคอยโทรถามเด็กว่าถึงโรงเรียนหรือยัง และมีไลน์กลุ่มแจ้งว่าเด็กไปโรงเรียนแล้วหรือวันนี้ลา ไม่ใช่ไม่แจ้งอะไรเลย ครูประจำชั้นก็มีหน้าที่ถ่ายรูปเด็กทั้งชั้นโพสต์ในไลน์กลุ่ม ถ้าจะให้ดีก็ไลฟ์สดการสอนทั้งวัน สุดท้ายตกตอนเย็นเด็กอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองนั่นแหละครับถึงจะเบาใจ  "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" แต่นั่นแหละพอนานๆไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ทำ และเหตุการณ์เด็กติดในรถตู้เสียชีวิตก็คงเกิดขึ้นอีก ไม่เชื่อคอยดู ครับ

ความคิดเห็น