การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation)


การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation)

        นวัตกรรม เป็นแนวคิดใหม่ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ที่ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้ ที่สำคัญคือช่วยเพิ่มควาสะดวกสบาย ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบดีไซน์ของสินค้า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า เป็นต้น รวมไปถึงการสร้างเลียนแบบ คนที่เรียนทางด้านช่าง อาชีพเฉพาะทางชอบที่จะทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพราะสามารถเห็นเป็นรูปธรรม และขายได้ ในทางธุรกิจสามารถแบ่งประเภทของนวัตกรรมได้ ดังนี้ 
  1. ผลิตภัณฑ์ใหม่ในแง่ของสายผลิตภัณฑ์ใหม่  ( New product lines) หมายถึง สายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นใหม่ของบริษัท และเป็นการเข้าสู่ตลาดเดิมที่มีอยู่เป็นครั้งแรก เช่น “Starbucks” ซึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมี   Core Business อย่างธุรกิจกาแฟที่มีฐานแข็งแกร่งแล้ว  ตอนนี้กำลังขยาย“ตลาดเครื่องดื่มชา” “Starbucks Teavana”   ออกมา ซึ่งเป็นสายผลิตภัณฑ์ใหม่นอกเหนือไปจากกาแฟที่เป็นจุดแข็งของสตาร์บัคอยู่แล้ว ซึ่งผู้เขียนไปดื่มมาแล้ว รสชาติดีทีเดียว 
  2. การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าไปในสายผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ (Additions to existing product lines) หมายถึง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มเติมเข้าไปในสายผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัท ซึ่งมีความใหม่พอสมควรสำหรับกิจการและตลาด  เช่น โยเกิร์ตดัชมิลล์ มีหลายแบบให้เลือก เช่น แบบดั้งเดิม รสสตอเบอร์รี่  รสวุ้นมะพร้าว ผลิตภัณฑ์เดิมยังเป็นโยเกิรต์อยู่ แต่เพิ่มแบบและรสชาติใหม่ๆ เป็นต้น 
  3. ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการลดต้นทุนการผลิต (Cost reductions) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นเพื่อลดต้นทุนการผลิต  เช่นเดิมเป็นกาแฟใส่ขวด ปรับปรุงเป็นแบบซอง เป็นต้น
  4. ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการกำหนดตำแหน่งผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ ( Re positioning) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการนำผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่เข้าสู่ตลาดเป้าหมายใหม่ เช่นเครื่องสีข้าวขนาดเล็กเพื่อใช้กับกลุ่มชุมชน
  5. ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ (Improvements in revision of existing product) หมายถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมในเรื่องของลักษณะและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ จะคล้ายๆกับผลิตภัณฑ์ปรับปรุงใหม่(Modified product)  ที่กล่าวมาแล้ว ในเบื้องต้น ตัวอย่างเดียวกันคือ  ไอโฟนรุ่น 2-6 ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มี การปรับปรุง ผลิตภัณฑ์เดิมของธุรกิจให้มีสมบัติ ลักษณะ และคุณค่าที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

แนวคิดในการสร้างนวัตกรรม

    มีกระบวนการในการคิด และเป็นหัวข้อในการศึกษาค้นคว้าและวิจัย ที่สำคัญคือการศึกษาอย่างรอบทิศแล้วจึงตัดสินใจเลือกตกลงใจอย่างมีเหตุผลตามลำดับ ดังนี้
  1. ประโยชน์  อาจคิดมาจากปัญหา ซึ่งในการสร้างผลิตภัณฑ์จะมองประโยชน์ต่อมนุษย์และสัตว์เป็นหลัก  โดยมองถึงกลุ่มผู้ใช้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ การนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในแง่ของธุรกิจคือตลาดนั่นเอง
  2. ผลิตภัณฑ์ มองถึงตัวผลิตภัณฑ์ คุณลักษณะ ประสิทธิภาพ เช่น ความเร็ว ระยะเวลา จำนวนชิ้นงาน ความประหยัด เป็นต้น ควรศึกษาว่ามีใครทำไว้แล้วบ้างไหม ซึ่งแหล่งข้อมูลจะมีจากผลิตภัณฑ์ที่มีขายอยู่แล้ว งานวิจัยในสถาบันการศึกษา ค้นหาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ของเราเหมือนหรือแตกต่างจากที่มีอยู่อย่างไร ทั้งในแง่รูปร่าง และการใช้งาน บางอย่างอาจจะมีคนทำไว้แล้วแต่ผลิตภัณฑ์ไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้ ก็สามารถพัฒนาให้มีความแตกต่างตามกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะมีผลตอนที่จะขอจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองผลิตภัณฑ์ของเรา 
  3. รูปแบบ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสร้างหรือพัฒนา และออกแบบ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ออกแบบนิยมใช้โปรแกรมออกแบบ 3 มิติ เพื่อที่จะสื่อสารกับช่าง สำหรับมือใหม่มีให้ใช้ฟรีบนอินเตอร์เน็ต เช่น Tinkercad Sketchup เป็นต้น ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถทำงานออนไลน์ สามารถพิมพ์งานออกมาทางเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และเครื่องตัดเลเซอร์ได้ 
  4. วงจรทางไฟฟ้า เป็นวงจรไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ วงจรนิวเมติกส์ วงจรไฮดรอลิกส์ ซึ่งมีโปรแกรมสำหรับออกแบบ  เช่น EasyEDA  Fluidsim เป็นต้น 
  5. ต้นกำลังหรือพลังงานในการขับเคลื่อน ศึกษาก่อนตัดสินใจว่าจะใช้พลังงานจากแหล่งใดขนาดเท่าไร เช่น จะใช้มอเตอร์แบบไหนขนาดเท่าไร  ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงหรือกระแสสลับ หรือใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ 

สิ่งสำคัญคือนักสร้างนวัตกรรมมักมีคุณสมบัติดังนี้

  1. มีความกระตือรือร้นที่จะหาความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องงานนวัตกรรม โดยหมั่นหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ศึกษาตัวอย่างของจริง สอบถามผู้ชำนาญการในชุมชนหรือท้องถิ่น ศึกษาขั้นตอนการสร้าง และทดลองปฏิบัติ ซึ่งทำให้ได้พัฒนาฝีมือ และสร้างผลงานที่แปลกใหม่ขึ้นได้
  2. มีความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ทำให้ผลงานมีความโดดเด่นหรือมีเอกลักษณ์พิเศษไม่ซ้ำผู้อื่น
  3. มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับหลักการทางศิลปะ เช่น หลักการออกแบบ รูปร่าง รูปทรง การใช้สี เป็นต้น
  4. มีความรู้และทักษะพื้นฐานด้านงานช่าง เช่น การใช้ การบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องมือใน เพื่อให้สามารถใช้งานเหมาะสมกับวิธีการและขั้นตอนการสร้างและพัฒนาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย เป็นต้น
  5. มีลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น มีความรับผิดชอบ รู้จักการเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ มีความสามัคคี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักเสียสละ มีความขยัน มีความซื่อสัยตย์ เป็นต้น เพราะงานสร้างนวัตกรรมที่ดีไม่มีทางที่จะทำงานเพียงคนเดียวได้

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างนวัตกรรม 

  1. ไม่ผิดกฎหมาย ลิขสิทธิ์ต่างๆ ถ้ามีการสร้างมาแล้วต้องมีการพัฒนา ถ้าสร้างเลียนแบบต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์โดยอาจแบ่งผลประโยชน์ เว้นแต่เพื่อการศึกษาแต่ก็ต้องขออนุญาต หรือซื้อลิขสิทธิ์
  2. ไม่ผิดศีลธรรม ไม่เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการผิดศีล หรือข้อกำหนดทางศาสนา
  3. ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน 
  4. ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ พืช และสัตว์ 


ความคิดเห็น